คู่มือการใช้งานรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้า รุ่น N5513A

ลงทะเบียนรับประกันสินค้าออนไลน์ ที่นี่

วิธีการใช้งานรถเข็นวีลแชร์เบื้องต้น

  1. ดึงล้อหลังกันหงาย และที่วางขาลงก่อนการใช้งานทุกครั้ง
  2. ปรับเป็นโหมด Electric เมื่อต้องการใช้งานระบบไฟฟ้า
  3. ล็อคเข็มขัดนิรภัย และกดปุ่มเปิดการใช้งานที่ Joy Stick
  4. หมุนก้านควบคุมเพื่อขับเคลื่อนและบังคับทิศทางรถเข็น

วิธีพับเก็บ-กาง รถเข็นวีลแชร์

วิธีพับเก็บ

  1. ถอด Joy Stick เก็บไว้ในกระเป๋าใต้ส่วนรองนั่ง
  2. ถอดเบาะออก ปรับระดับที่วางขา และพนักแขนทั้ง 2 ข้างขึ้น
  3. ปรับพนักพิงหลังลง
  4. เก็บล้อหลังกันหงาย
  5. บีบตัวล็อคด้านหลังเข้าหากัน
  6. พับรถเข็นเก็บ

วิธีกาง

  1. ดึงพนักพิงหลังขึ้น
  2. กางรถเข็นออก และปรับระดับที่วางขาลง
  3. ดึงล้อหลังกันหงายออก และติดตั้ง Joy Stick
  4. ติดตั้งเบาะรองนั่ง

วิธีการดูแลวีลแชร์ไฟฟ้า

  1. การดูแล Joystick หรืออุปกรณ์ควบคุมทิศทาง
    • หลีกเลี่ยงการโดนน้ำ

เนื่องจาก joystick มีแผงวงจรไฟฟ้าอยู่ด้านในที่หากโดนทำอาจทำให้เสียหายได้ จึงควรเลี่ยงการใช้งานเมื่อฝนตก ระมัดระวังไม่ให้น้ำหกบนตัว Joystick หากทำน้ำหกใส่รีบเช็ดให้แห้งทันที และไม่ควรใช้งานในขณะที่เปียกน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิด

    • หลีกเลี่ยงการกระแทก

ไม่ใช้งานแบบรุนแรง โดยปกติ Joystick ผลักเพียงเบาๆ ก็สามารถเคลื่อนตัวไปด้านหน้าได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกแรงผลักแรงๆ และระวังไม่ให้ Joystick ร่วงตกพื้นเพราะอาจสร้างความเสียหายกับระบบการทำงานภายในได้  และที่สำคัญเมื่อเปิดเครื่องแล้วอย่าพึ่งรีบใช้งาน รอสักหน่อย 10 -30 วินาทีให้ไฟวงจร ตรง Joystick ขึ้นให้ครบแล้วจึงใช้งาน เพื่อเป็นการเตรียมให้ระบบทุกอย่าง พร้อมสำหรับการใช้งาน

  1. แบตเตอรี่ 
    • ใช้งานบ่อยๆ

ไม่ควรจอดรถเข็นไฟฟ้าทิ้งไว้เป็นเวลานาน ควรมีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แบตเตอรี่ได้หมุนเวียนประจุไฟฟ้า และที่สำคัญอย่าปล่อยให้แบตเตอรี่หมดระหว่างใช้งาน

    • ไม่ควรชาร์จบ่อยๆ

โดยปกติแล้วรถเข็นสามารถใช้งานได้ยาวนานหลายกิโลเมตรกว่าแบตเตอรี่จะหมด ผู้ใช้งานสามารถสังเกตสถานะแบตเตอรี่ได้ที่แถบบริเวณ Joystick หากไฟมีสีส้มไปจนถึงสีแดง 2 จุดสุดท้าย ให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้เลย ไม่จำเป็นต้องชาร์จแบตบ่อยๆ เพราะอาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมได้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชาร์จแบตเตอรี่คือช่วงเวลาที่เรานอนหลับพักผ่อน (ประมาณ 22.00 – 06.00 น.)

    • ชาร์จไฟอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง

ในกรณีที่ไม่ค่อยได้ใช้งานรถเข็นไฟฟ้าแล้ว ให้นำออกมาชาร์จอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง  และนำออกมาใช้งานอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อเป็นการกระตุ้นประจุของแบตเตอรี่ เพราะการจอดทิ้งไว้นานๆ โดยไม่ชาร์จไฟ จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วและอาจทำให้ชาร์จไฟไม่เข้าจนใช้งานไม่ได้

    • อย่าใช้ที่ชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน

ควรใช้ที่ชาร์จที่มาพร้อมกับรถเข็น ไม่ควรใช้ที่ชาร์จอื่นในการชาร์จไฟ เพราะกำลังวัตต์ที่น้อยกว่าอาจทำให้กระไฟจ่ายไฟไม่พอและทำให้ต้องชาร์จแบตนานขึ้น

  1. มอเตอร์ 

มอเตอร์คืออุปกรณ์สำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนรถเข็น ให้ไปตามทิศทางที่เราบังคับ โดยรถเข็นไฟฟ้าจะมีมอเตอร์ทั้งสองข้าง ซ้ายและขวา ช่วยให้รถเข็นเลี้ยว หมุนกลับ หมุนรอบตัวได้อย่างอิสระ การดูแลมอเตอร์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก

โดยปกติแล้วรถเข็นไฟฟ้าสามารถปรับความเร็วได้ 4-5 ระดับ  หากต้องการใช้งานรถเข็นไฟฟ้าเป็นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ไม่ควรปรับความเร็วในระดับที่สูงสุด เพราะจะทำให้มอเตอร์ต้องทำงานหนักจนเกิดความร้อนสูงและอาจทำให้มอเตอร์ไหม้ได้

    • เปลี่ยนโหมดการทำงานก่อนใช้งาน

รถเข็นไฟฟ้ามีระบบการทำงานอยู่ 2 ระบบด้วยกัน นั่นก็คือ ระบบไฟฟ้า และ ระบบ Manual (ผู้ช่วยเข็น) หากต้องการเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าไปใช้งานแบบ Manual ควรเปลี่ยนสวิตซ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการใช้งานแบบผิดประเภทที่อาจทำให้มอเตอร์ได้รับความเสียหาย เกิดกระแสไฟฟ้าร้อนทำให้มอเตอร์เกิดความผิดปกติเวลาใช้งาน

    • หลีกเลี่ยงการใช้งานในพื้นที่น้ำขัง

อุปกรณ์ไฟฟ้ากับน้ำไม่ใช่ของคู่กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในทางที่ดีควรเลี่ยงการใช้งานในบริเวณที่มีน้ำขัง น้ำท่วมสูง หรือใช้งานในขณะที่ฝนตก เพราะอาจทำให้น้ำเข้ามอเตอร์จนได้รับความเสียหายได้

  1. เบาะรองนั่ง 

วิธีดูแลทำได้โดยถอดออกมาทำความสะอาด โดยใช้น้ำเปล่า หรือ นำไปแช่น้ำที่ผสมผงซักฟอก และล้างออกด้วยน้ำสะอาด แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้แปรงขนแข็งในการขัดเพราะอาจทำให้เบาะเป็นขุยได้ 

  1. ล้อ 
    • ล้อยางตัน

จริงอยู่ที่ว่าล้อยางตันไม่ต้องดูแลเยอะ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ดูแลเลย เพื่อให้รถเข็นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานควรหลีกเลี่ยงการใช้งานบนถนนที่ร้อนจัดเป็นเวลานานๆ เพราะอาจทำให้ยางเปราะได้  และเลี่ยงการใช้งานบนพื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขัง หรือมีของแข็ง ของแหลมคมที่อาจสร้างความเสียหายทำให้ผิวของล้อร่อนหรือหลุดออกมาได้  

บางครั้งการที่รถเข็นไปติดหรือไปสะดุด อาจเป็นสาเหตุทำให้ล้อหลุดออกมาได้

    • ล้อเติมลม

สำหรับล้อเติมลมต้องใส่ใจในการดูแลเป็นพิเศษ ควรตรวจเช็คสภาพล้อให้บ่อยครั้งก่อนใช้งาน หรืออย่างน้อยเช็กสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูว่าลมมีการสึกกร่อนหรือเสื่อมหรือไม่ หากใช้งานแล้วรู้สึกไม่สบาย มีเสียงดังก๊อกแก๊ก ให้หยุดใช้และรีบแก้ไขทันที

  1. ห้ามใช้รถเข็นวัลแชร์ไฟฟ้าลากสิ่งของ 

รถเข็นไฟฟ้าไม่ใช่รถสำหรับลากสิ่งของ และไม่ควรรับน้ำหนักมากเกินไปกว่าที่ตัวรถเข็นกำหนด แม้รถเข็นจะรับน้ำหนักได้มากแต่การใช้ลากสิ่งของหรือใช้ขนสินค้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

  1. เก็บรถเข็นไว้ในห้องอุณหภูมิปกติ

เนื่องจากรถเข็นทำงานด้วยระบบไฟฟ้า การเก็บไว้กลางแจ้งหรือในที่อากาศเย็น อากาศชื้น อาจสร้างความเสียหายต่อระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ได้

  1. สังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ 

อย่าลืมสังเกตอุปกรณ์อื่นๆ ของรถเข็นอยู่เสมอ และตรวจเช็กสายไฟว่าชำรุด มีรอยรั่วหรือรอยหนูกัดหรือไม่ รถเข็นเคลื่อนไหวผิดปกติหรือเปล่า หรือมีเสียงดังแปลกๆ ขณะใช้งานไหม หากมีความผิดปกติเหล่านี้ให้รีบทำการแก้ไขโดยด่วน